นอยชวานสไตน์ ปราสาทงามแห่งความรัก

“งดงามราวปราสาทในเทพนิยาย” นับเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินไปเลยสำหรับ นอยชวานสไตน์ ปราสาทสีขาวที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา รายล้อมด้วยภูมิทัศน์อันสวยงามของแมกไม้บนเทือกเขาแอลป์ และความงามของทะเลสาบด้านล่าง นอยชวานสไตน์ ก่อกำเนิดขึ้นจากความรัก ความลุ่มหลง ความทุ่มเท ของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งแคว้นบาวาเรีย (25 สิงหาคม ค.ศ.1845 – 13 มิถุนายน ค.ศ.1886)  ผู้ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 18 ชันษา พระองค์เป็นกษัตริย์ที่สนใจศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรมเป็นอย่างมาก

นอยชวานสไตน์
ปราสาทนอยชวานสไตน์ (Schloss Neuschwanstein)/ Photo by Yang Yang

เรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้น ในปี ค.ศ.1869  เมื่อพระเจ้าลุดวิกที่ 2  ให้สร้างปราสาทนอยชวานสไตน์ (Schloss Neuschwanstein) ด้วยพระราชทรัพย์มหาศาล ในสมัยนั้นเยอรมนียังไม่ได้รวมกันเป็นประเทศอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นเพียงแว่นแคว้นต่างๆ ที่ปกครองตนเอง แต่ละแคว้นมีกษัตริย์ของตัวเอง พระเจ้าลุดวิกที่ 2 พระราชาแห่งแคว้นบาวาเรีย ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่และเรืองอำนาจมากในยุคนั้น ทว่ามิได้ทรงใช้พระราชอำนาจไปในทางขยายอาณาจักร หากขยายจินตภาพ และความหลงใหลในศิลปะ และความชื่นชอบในตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับเทพของเยอรมัน และไวกิ้ง

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ยังชมชอบอุปรากรของริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) เป็นชีวิตจิตใจ ปราสาทนอยชวานสไตน์สร้างขึ้นจากบทประพันธ์โอเปร่าของวากเนอร์ ที่ว่าด้วยอัศวินหงส์ขาว โลเฮนกริน  ที่มีความหรูหราตระการตาไม่น้อยไปกว่าปราสาทในฝรั่งเศส ด้วยพระองค์มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะให้วากเนอร์ได้มาเยือนที่นี่สักครั้ง  แต่กระทั่งถึงวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ริชาร์ด วากเนอร์ก็ไม่เคยก้าวเท้ามาที่ปราสาทแห่งนี้เลย

นอยชวานสไตน์
ภาพปราสาทในฤดูหนาว /Photo by Lanju Fotografie

ปราสาทนอยชวานสไตน์ ออกแบบโดย Christian Jank ซึ่งเป็นนักออกแบบฉากละคร  นั่นจึงทำให้ภาพความฝันและความจริงผสานเข้าด้วยกัน ด้วยจินตนาการอันวิจิตร โดยใช้ทรัพย์สินเงินทองลงไปเนรมิตเพื่อเติมเต็มความฝันให้กลายเป็นปราสาทสุดอลังการ แม้ค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในการหล่อเลี้ยงความหรูหราเป็นจำนวนเงินมหาศาล จะมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น แต่พระองค์ยังคงได้รับการต่อต้านจากเหล่าขุนนาง จนกระทั่งถูกรัฐบาลบาวาเรีย ประกาศปลดพระองค์จากการเป็นกษัตริย์ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1886

หลังจากถูกปลดพระองค์ถูกนำตัวไปจำกัดบริเวณที่ปราสาทแบร์กในแคว้นบาวาเรีย กระทั่งสิ้นพระชนม์อย่างเป็นปริศนาในทะเลสาบ ขณะพระชันษาได้เพียง 40 ปี  เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ปราสาทนอยชวานสไตน์สร้างไปได้เพียง 1 ใน 3 ของแผนที่วางไว้ และพระเจ้าลุดวิกที่ 2 เองก็เสด็จมาประทับที่ปราสาทแห่งนี้เพียง 170 วันเท่านั้น

นอยชวานสไตน์
ปราสาทลินเดอร์ฮอฟ (Linderhof)/ Photo by ian kelsall

นอกจากนอยชวานสไตน์แล้ว พระเจ้าลุดวิกที่ 2 พระองค์ได้สร้างปราสาทไว้อีกสองหลัง คือ ปราสาทลินเดอร์ฮอฟ (Linderhof) ใกล้เมืองโอเบอร์อัมเมอร์เกา (Oberammergau) ปราสาทหลังที่สองนี้ เป็นปราสาทหลังเล็กๆ ในสไตล์ร็อกโคโค  เป็นหลังเดียวที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ ส่วนปราสาทหลังที่สามก็คือ ปราสาทแฮร์เรนคีมเซ (Herrenchiemsee) ที่โปรดให้สร้างขึ้นบนเกาะกลางทะเลสาบคีมเซ โดยได้ต้นแบบจากพระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส นั้นสร้างไม่เสร็จก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์เช่นกัน

ความหลังและเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกันมาทำให้ปราสาทแสนสวยเหล่านี้ยิ่งมีมนต์ขลัง ทุกวันนี้ปราสาททั้งสามแห่งของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมความงาม ที่สร้างจากความหลงใหลของพระองค์ได้ทุกแห่ง แต่ถ้าจะกล่าวถึงปราสาทที่โด่งดังและได้รับความนิยมที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นปราสาทนอยชวานสไตน์ ที่นักท่องเที่ยวคุ้นตากันดี จากภาพจำของปราสาทในการ์ตูนเรื่องซินเดอเรลล่าของ “วอลท์ดิสนีย์“ และยังใช้เป็นต้นแบบในการสร้างปราสาทของเจ้าหญิงนิทราที่รอคอยเจ้าชายมาจุมพิตอยู่ในดิสนีย์ธีมปาร์คอีกด้วย

นอยชวานสไตน์
น้ำตกที่ไหลผ่านด้านล่างของสะพาน Mary’s bridge /Photo by Tim Matras

ใครที่เคยไปสัมผัสกับปราสาทในดิสนีย์แลนด์กันมาแล้ว หากได้เดินทางมาถึงเยอรมันแล้ว ก็ควรจะไปเติมเต็มความฝันในปราสาทของเจ้าหญิงเจ้าชายตัวจริง ที่ถึงแม้เรื่องราวเบื้องหลังจะน่าเศร้าไปสักหน่อย แต่ความวิจิตรสวยงามนั้นก็ควรค่าแก่การไปเยือนเป็นอย่างยิ่ง การเดินทางไปยังปราสาทนอยชวานสไตน์นั้นสะดวกทีเดียว ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง นั่งรถไฟจากเมืองมิวนิค ไปยังเมืองฟุสเซน (Füssen) ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาท ลงรถไฟแล้วไปต่อรถบัส73 หรือ 78 จะมีรถออกทุกชั่วโมง โดยรอบรถบัสจะสัมพันธ์กับรอบรถไฟที่มาลงที่สถานี

นอยชวานสไตน์

รถบัสจากสถานีรถไฟจะขับตรงไปยังหมู่บ้าน โฮนชวานเกา (Hohenschwangau)  ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟ  5 กิโลเมตร  ซึ่งนอกจากนอยชวานสไตน์แล้ว นักท่องเที่ยวจะมองเห็นปราสาทสีเหลืองๆ อีกหลังตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ นั้นคือปราสาทโฮนชวานเกา (Hohenschwangau) เป็นพระราชวังฤดูร้อนของ พระเจ้าแม็กซิมิเลียนที่ 2 (Maximilian II) พระบิดาของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ปราสาทโฮนชวานเกาอยู่ไม่ห่างกันนักจากปราสาทนอยชวานสไตน์ สามารถเดินถึงกันได้ใน 20 นาที และสามารถเข้าไปชมทั้งสองปราสาทได้ในวันเดียวกันได้ 

นอยชวานสไตน์
ปราสาทโฮนชวานเกา (Hohenschwangau) อยู่ด้านขวามือเหนือหมู่บ้าน/ Photo by Yang Yang

จากจุดทางเข้าต้องเดินทางต่อไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ขึ้นเขาไปยังปราสาท เดินชมทิวทัศน์ข้างทางเพลินๆ แวะชมวิวทิวทัศน์บนเขาได้ตามอัธยาศัย เหนื่อยก็พักได้เป็นระยะ เดินไปจนถึง Marienbrücke หรือ Mary’s bridge ซึ่งเป็นสะพานที่ต้องเดินข้ามไปยังปราสาทที่ทอดข้ามหน้าผาสูง 90 เมตร มีน้ำตกสูง 45 เมตร ไหลเรื่อยทอดผ่านทางด้านล่าง  จุดนี้คือทำเลทองสำหรับการถ่ายรูปที่จะเห็นปราสาทได้ทั้งหลังอย่างสวยที่สุด  และเป็นจุดจอดของรถบัสสำหรับคนที่ไม่อยากจะเดิน

การเรียกใช้บริการของรถบัสหรือรถม้าจากจุดทางเข้าขึ้นมายังปราสาทได้ แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีใดก็ตาม โปรดดูเวลาการเริ่มทัวร์ชมปราสาทบนหน้าตั๋วของคุณไว้ให้มั่น เพราะเปิดให้เข้าชมเป็นกลุ่มๆ ตามรอบเวลาที่กำหนดไว้บนตั๋วตรงตามเวลา ถ้าหากพลาดแล้วก็คือพลาดเลย ดังนั้นควรเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางขึ้นไปยังทางเข้าปราสาทด้วยอย่างน้อย ๆ สัก 1 ชั่วโมง

นอยชวานสไตน์
อีกมุมหนึ่งของปราสาทที่งดงาม/ Photo by Alpay Aktas

การทัวร์ชมภายในปราสาทนั้นนักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมและซาบซึ้งกับผลงานศิลปะของศิลปินยุคก่อนได้อย่างเต็มอิ่ม ภายในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ใช้เวลาในการเดินชมประมาณ 30 นาที พร้อมกับมี  Audio Guide เป็นภาษาไทยให้ด้วย ปราสาทนอยชวานสไตน์ ภายนอกดูมีความยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง เหมือนปราสาทในยุคกลาง มีหอคอย ป้อมปราการดูขึงขัง แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยจิตรกรรมและศิลปะในยุคต่างๆ เช่น ไบแซนไทน์ โรมันเนสก์ โกธิก เป็นต้น

ว่ากันว่าตามแบบแปลนของปราสาทนั้นควรจะมีห้องถึง 200 ห้อง แต่ได้สร้างสำเร็จไปเพียงสิบกว่าห้องเท่านั้นก่อนจะถูกตัดงบประมาณลง ถึงกระนั้นภายในปราสาทนักท่องเที่ยวจะได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ จินตนาการ ความหัวก้าวหน้าของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ที่ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดในขณะนั้นมารวมไว้ที่นี่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบทำน้ำร้อนน้ำเย็น เรียกได้ว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้นเลยทีเดียว

เมือง Füssen / Photo by Sona Petrossian

เมื่อชมปราสาทเสร็จแล้ว ถ้าอยากจะเดินชิลไปจิบกาแฟ หรือหาของว่างรับประทาน ก็มีร้านกาแฟวิวดีที่ปราสาทให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจเบาๆ ก่อนที่จะเดินหรือขึ้นรถบัสลงมาด้านล่าง ซึ่งจะมีมุมให้ถ่ายรูปปราสาทโฮนชวานเกาที่อยู่ข้างๆ ได้อีกนิดหน่อย แล้วถ้ามีเวลาเหลือก็กลับมาเก็บตกที่เมืองฟุสเซน (Füssen) เดินชมบ้านเรือนสวยๆ ได้อีกรอบก่อนจะขึ้นรถไฟกลับไปมิวนิค

หรือถ้าหากคุณต้องการจะเที่ยวชมอีก แถวนั้นก็มีโรงแรมหลายแห่ง ที่สามารถเดินไปถึงปราสาทได้ ไม่ว่าจะเลือกพักค้างแรม หรือ One day trip ที่ปราสาทนอยชวานสไตน์ ก็ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว คือเติมเต็มจินตนาการของผู้เป็นเจ้าของ และต่อยอดความคิดให้กับศิลปินรุ่นหลัง ได้กลายเป็นภาพจำของปราสาทในเทพนิยายแสนสวย ที่มีเรื่องราวให้เล่าขานกันต่อไป

Marienbrücke สะพานที่คุณสามารถเก็บภาพของปราสาทจากที่นี่/ Photo by Luis Fernando Felipe Alves

Travel Tips :

ปราสาทนอยชวานสไตน์สามารถเที่ยวได้ทุกฤดู  แต่ละช่วงเวลาก็ให้ความงดงามที่ต่างกัน แต่ชาวเยอรมันส่วนใหญ่นิยมไปฤดูร้อน

บริเวณปราสาทนอยชวานสไตน์ มีจุดให้ถ่ายรูปไม่มากนัก หากต้องการรูปปราสาทสวยๆ ทั้งหลัง ก็ต้องไปที่สะพานมาเรียนบรู๊ค หรือขึ้นเคเบิลคาร์ไปที่ยอดเขา Tegelberg ที่ห่างออกไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะได้มุมถ่ายรูปที่เห็นปราสาทเต็มๆ

เมื่อไปถึงบริเวณเชิงเขาด้านล่างที่หมู่บ้าน Hohenschwangau แล้ว จะมีทางเลือกให้ขึ้นปราสาท 3 ทาง คือ เดินขึ้นเขา ระยะทาง 1.5 กม. (40 นาที) / ขึ้นรถลาก จากจุดจอดเดินขึ้นเขาอีก 300 เมตร (5 – 10 นาที) /ขึ้นรถบัส จากจุดจอดเดินลงเขาอีก 600 เมตร (10 -15 นาที)